SSD คืออะไร แตกต่างอย่างไรกับ Harddisk และจำเป็นต้องซื้อไหม
สวัสดีครับ คุณผู้อ่านทุกท่าน วันนี้หมีคอมจะมาเล่าถึง SSD หรือชื่อเต็มคือ Solid State Drive ครับ แล้วมันคล้ายๆกับ USB Drive และ SD Card หรือป่าวนะ แตกต่างกับHarddisk อย่างไร ซื้อSSD หรือHarddisk อันไหนจะดีกว่า ใช้ร่วมกันได้ไหม และจำเป็นที่เราจะต้องซื้อมาใช้หรือไม่ วันนี้เราจะมาหาคำตอบไปพร้อมกันครับ
SSD คืออะไร
SSDย่อมาจาก Solid State Drive เป็น Flash Memory ชนิดหนึ่งสามารถเข้าถึงข้อมูล (Access Time) ได้ไวกว่า Harddisk ค่อนข้างเยอะเลยทีเดียว ปกติ Harddisk จะใช้ จานหมุน ในการอ่านข้อมูล ความเร็วของ Harddisk ทั่วไปจะวัดค่าได้เป็น รอบต่อนาที และในปัจจุบันอัตราความเร็วจะอยู่ที่ 5400 RPM และ 7200 RPM (สงสัยว่า RPM คืออะไรสามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่บทความ Harddisk (ฮาร์ดดิส) คืออะไร เรามาทำความรู้จักและวิธีการเลือกซื้อกัน)
ถ้าเทียบเป็นความเร็วของ MB/s ตัวของ Harddisk จะอยู่ที่ประมาณ 100 MB/s ปัจจัยความเร็วขึ้นอยู่กับรุ่นของแต่ละแบรน์ ส่วนตัว SSD ความเร็วในการอ่านและเขียนนั้นจะอยู่ที่ประมาณ 400 MB/s แต่จะไม่เกิน 600 MB/s แล้วแต่รุ่นของแต่ละแบรนด์ด้วยครับ ที่ได้ไม่เกิน 600 MB/s เพราะว่าช่อง SATA 3 ที่เชื่อต่อกับSSDของเรานั้นจะวิ่งได้เร็วสูงสุดไม่เกิน 6Gbps นั้นเองครับ
ส่วนหลักการทำงานของSSD คือการอ่าน/เขียนข้อมูลลงในชิป(NAND) จะคล้ายๆกับ USB Drive ครับ (SSDนั้นมีหลายรูปแบบครับ ในข้างตนหมีคอมจะพูดถึง SATA SSD ที่ได้รับความนิยมกันที่สุดก่อนครับ ส่วนในแบบอ่ื่นๆจะกล่าวถึงในช่วงท้ายๆของบทความครับ)
ระหว่างSSD กับHarddisk อันไหนทนกว่ากัน
SSDนั้นจะใช้หลักการอ่านเขียนลงในชิปครับ เมื่อใช้เลยจุดอายุไปแล้วก็จะไม่สามารถใช้ได้อีกครับ ดังนั้นจึงตอบได้ยากครับ ว่าตัวSSD จะใช้ได้นานเท่าไหร่ เพราะผู้อ่านแต่ละท่านก็จะใช้งานหนักและเบาที่ไม่เท่ากัน แต่ถ้าใช้ไม่มากหรือใช้แบบทั่วไป อยู่ได้นานหลายปีอย่างแน่นอนครับ
การดูความทนทานจะดูที่ค่า Spec ตรงช่อง Terabytes Written หรือตัวย่อ TBW ซึ่งแปลตรงๆ ว่า “จำนวนไบต์ที่สามารถเขียนลงไปได้ทั้งหมด” หมีคอมจะคำนวนอายุของเจ้าSSDแบบละเอียดให้ดูครับ ยกตัวอย่าง 2 ยี่ห้อ ก็จะมี
ยี่ห้อ/รุ่น | ความจุ | อ่าน | เขียน | TBW | ราคา |
WD SSD GREEN (spec) | 120 GB | 540 MB/s | 405 MB/s | 40 TB | 1900 บาท |
Samsung 850 Evo (spec) | 120 GB | 540 MB/s | 520 MB/s | 75 TB | 2450 บาท |
• วิธีการคำนวณ Spec ที่ผู้ผลิตบอกถึงความทนทานของตัวSSD
อย่าแรกเราจะนำค่า TBW มาแปลงค่าจาก TB เป็น GB กันก่อนครับ
WD => 40 TB x 1024 => 40,960 GB
Samsung => 75 TB x 1024 => 76,800 GB
สมมุติให้ โหลดบิทเป็นเวลา 24 ชม.หรือเท่ากับ 1 วัน โดยใช้เน็ตความเร็ว 30 Mbps
ทุกๆ 1 วินาที ที่โหลด เราจะได้ขนาดไฟล์มา 3.75 MBps
*หน่วย คือ 8 Bits = 1 Byte ครับ
30 Mbps ก็คือ 30 MegaBits/วินาที ซึ่งเท่ากับ 30/8 = 3.75 MBps คือ 3.75 MegaByte/วินาที*
ฉะนั้น 1 วันเราจะโหลดไฟล์ได้เท่ากับ [3.75 MBps * 60 sec * 60 min * 24 hour = 324,000 MB/วัน]
และหารด้วย 1024 จะได้ 316.4 GB/วัน
ฉะนั้นแล้วอายุการใช้งานได้ทั้งหมด
WD = 40,960 GB หาร 316.4 GB/วัน = 129 วัน
Samsung = 76,800 GB หาร 316 GB/วัน = 243 วัน
หมีคอมว่าคงไม่มีใครโหลดบิทหรือใช้การเขียน/อ่านข้อมูล กันโหดขนาดนั้นอยู่แล้ว อย่างมากก็คงไม่เกิน 5-15 GB ต่อวัน และถ้าใครเปิดคอมเล่นเกมเล่นเน็ต ก็คงไม่ถึง GB อย่างแน่นอน รับประกันใช้ไปจนเปลี่ยนคอมเครื่องใหม่ไปแล้วเรียบร้อย
ถ้าเราใช้การอ่านเขียนลง SSD ประมาณ 10 GB/วัน
WD จะใช้งานได้ 40,960 GB หาร 10 GB/วัน = 4,096 วัน = 11 ปี
Samsung จะใช้งานได้ 76,800 GB หาร 10 GB/วัน = 7,680 วัน = 21 ปี
แต่อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาข้างตนเป็น spec ที่ผู้ผลิตบอกถึงความทนทานของตัว ชิป (NAND) ของแต่ละรุ่นของเขาเท่านั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆในเรื่องของความทนทานด้วยครับ เพราะส่วนประกอบอื่นๆอาจพังไปก่อนก็เป็นได้ครับ
ฉะนั้นแล้ว ทำไมความจุเท่ากัน ราคาถึงต่างกัน เพราะ ความเร็วในการอ่าน/เขียน และความทนทานที่ต่างกัน จึงทำให้ราคานั้นต่างกันนั้นเองครับ ตอนเลือกซื้อก็อย่างลืมดูปัจจัยเหล่านี้กันด้วยนะครับ
สรุป SSD กับ Harddisk อันไหนทนกว่ากัน
ต้องบอกก่อนว่า ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยและ ดวงด้วยครับ เพราะSSD ทนเรื่องการกระแทรก และ ชิปที่อ่านเขียนได้นานก็จริง แต่ก็มีโอกาสเสียหายได้เช่นกัน และถ้าเกิดเสียหายขึ้นมาการกู้ข้อมูลกลับมา ถือว่าเป็นไปได้ยากจนถึงไม่สามารถกู้ได้เลย ส่วน Harddisk ไม่มีบอกอายุการใช้งาน และดูทนทานมาก แต่ถ้าหัวอ่านเกิดเสียขึ้นมา หรือโดนกระแทรก ก็มีโอกาสเสียได้เช่นกัน แต่ก็มีโอกาสกู้ไฟล์และข้อมูลได้มากกว่าSSDครับ และสิ่งที่น่ากลัวที่สุดของอุปกรณ์ Hardware ในคอมพิวเตอร์คือ ไฟฟ้าลัดวงจรครับ อย่าลืมหา UPS และ power supply ดีๆ เพื่อป้องกันและยืดอายุการใช้งานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ของเราครับ สามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับ UPS ได้ที่บทความ UPS เครื่องสำรองไฟ ที่คอมทุกเครื่องควรมี เพื่อความอุ่นใจเมื่อเกิดไฟดับ
ใช้ SSD หรือ Harddisk อันไหนดีกว่า และใช้ร่วมกันได้ไหม
อันนี้ขึ้นอยู่กับ ลักษณะการใช้งาน และ งบประมาณของแต่ละท่านผู้อ่านครับ ถ้าท่านมีงบและเป็นผู้ที่ต้องการความเร็วในการ โหลดไฟล์ โหลดงาน โดยเฉพาะ อาชีพตัดต่อวีดีโอ งานกราฟฟิก แนะนำSSD เลยครับ และบุคคลทั่วไปถ้ามีงบและต้อการให้เปิดคอมไว เข้าโปรแกรมไว ลงโปรแกรมหรือเกมไว โหลดฉากเกมใหญ่ๆได้ไว พวก Open World รับประกันไม่ผิดหวัง แต่ถ้าไม่ได้ต้องการไปใช้เพื่อโหลดไวมากมาย เล่นเน็ต ทำงาน เล่นเกมที่เบาๆ (เกมใหญ่ๆก็ได้เช่นกัน แค่โหลดฉากช้ากว่าหน่อยครับ) Harddisk ก็เพียงพอแล้วครับ
แล้วใช้ร่วมกันได้ไหม ใช้ร่วมกันได้ครับ เช่น SSDใช้ลง Windows โปรแกรม และ เกม เพื่อให้เปิดได้ไว ส่วนของ Harddisk ใช้เก็บพวก ไฟล์งาน หนัง ภาพ เพลง และอื่นๆ เป็นต้นครับ
ใช้SSD เครื่องจะไวขึ้นไหม
ไม่ได้ช่วยทำให้เครื่องไวขึ้นครับ ขอเรียกว่า ทำให้เครื่อง อ่าน-เขียน ได้ไวขึ้นดีกว่าครับ ฉะนั้นความเร็วหรือความไวในการประมวลผลจะขึ้นอยู่กับ CPU และ Ram ของแต่ละเครื่องครับ ที่จะทำให้เครื่องนั้นเร็วหรือช้านั้นเองครับ
ด้านล่างจะเป็น VDO ตัวอย่างเทียบระหว่าง Harddisk กับ SSD ในเรื่องของการโหลด Windows และ โปรแกรมใช้งานต่างๆ
สามารถซื้อSSD มาติดตั้งเองได้ไหม
สามารถซื้อมาและติดตั้งเองได้ไม่ยากเลยครับ ง่ายมั่ก! แต่ก่อนที่เราจะซื้อมาใช้ เราต้องไปดูก่อนนะครับว่า mainboard ของเรา มี Port SATA 3 ไหม เพราะถ้าเป็น SATA 2 หรือ 1 จะมีใน mainboard รุ่นเก่าๆ และถ้านำมาใช้ร่วมกันก็จะทำให้SSD รุ่นใหม่ ที่เป็น Port SATA 3 จะทำให้วิ่งไม่เต็มความเร็วครับ
หลังจากซื้อมาแล้ว สามารถติดตั้งได้ง่ายๆเลยครับ คล้ายๆกับ Harddisk เลย เพียงแค่เสียบสาย SATA 3 และ สายไฟ SATA ก็สามารถใช้งานได้แล้ว ส่วนใครสายไฟ SATA ไม่พอหรือไม่มี ก็สามารถซื้อ adapter แปลงจากหัวสายไฟ Molex เป็น หัวสายไฟ SATA ได้เช่นกันครับ เส้นนึ่งไม่กี่บาทเท่านั้น แต่ถ้าใครไม่เหลือสายเลย สงสัยจะต้องซื้อ Power Supply ตัวใหม่สะแล้ว
adapter หัว Molex เป็น หัวสายไฟ SATA ครับ
SSD มีแบบอื่นนอกจากรูปแบบ SATA SSD ด้วยนะ
แบบที่หมีคอมได้อธิบายไปนั้น เป็นแบบ SATA SSD 2.5 นิ้วครับ นิยมใช้กัน ส่วนในแบบอื่นๆก็จะมีอีก 3 แบบครับคือ
• mSATA SSD
จะมีขนาดเล็กกว่า แบบ SATA ครับ จะมีขนาดแค่ ยาว 5 cm * กว้าง 3 cm เท่านั้น ส่วนมากจะนำมาใช้อัพเกรดกับ notebook ครับ ตัวของ notebook ในหลายๆรุ่นจะมีช่องให้ติดตั้งเพิ่มได้เลยครับ สามารถนำรุ่น notebook ของคุณผู้อ่านไปตรวจกับเว็บผู้ผลิตได้เลยครับ ว่ามีช่องให้ใส่เพิ่มไหม ส่วนเรื่องความเร็วนั้น จะมีความเร็วสูงสุดไม่เกิน 6Gbps เท่ากับตัว SATA ครับ
จากภาพด้านบน ถ้าเรานำรุ่น Notebook ของเราไปค้นหาในเว็บของผู้ผลิต ก็จะมีระบุบอกครับว่า notebook ของเรานั้นมี Port mSATA ลองรับไหม ถ้ามีจะแสดงแบบภาพด้านบนครับ
• M.2 SSD
มาต่อกันที่SSD M.2 กันครับ หมีคอมขอเรียกสั้นๆว่า M.2 ละกันครับ เจ้า M.2 ถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่มาให้ได้ใช้กันไม่นานนี้เองครับ ฉะนั้นจะมีใน Mainboard ใหม่ๆและ notebook รุ่นใหม่ๆครับ เจ้า M.2 นี้จะใช้ระบบของ PCI-Express แทนตัวของ SATA 3 ครับ ทำให้ความเร็วของการโอรถ่ายข้อมูลของ M.2 มีความเร็วได้สูงสุดถึง 32 Gb/s มากกว่า SATA 3 ที่มีความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 6 Gb/s เท่านั้น เร็วกว่าโดยประมาณ 5 เท่ากันเลยทีเดียว แต่ราคาก็แรงตามความเร็วด้วยเช่นกันครับ
สำหรับใครที่อยากรู้ว่า mainboard หรือ notebook ของเรารองรับไหม ก็สามารถนำรุ่น mainborad หรือ notebook ของเราไปค้นหาเพื่อดู Spec ในเว็บผู้ผลิตได้เช่นกันครับ สำหรับ mainboard ใครไม่รู้ว่ารุ่นของเรานั้นรุ่นอะไร หรือจำไม่ได้ลืมกันไปแล้ว สามารถอ่านวิธีการดูรุ่น mainboard ได้ที่ วิธีการดูสเปคคอม เบื้องต้นแบบง่ายๆ และวิธีใช้งานผ่านโปรแกรม CPU-Z กันเลยครับ
และ M.2 นั้นจะมีอยู่หลายชนิดคือ 2230/2242/2260/2280/22110 มันคือขนาดนั้นเองครับ เช่น 2260 คือ (ยาว 60 mm * กว้าง 22 mm) นั้นเองครับ ส่วนขนาดที่นิยมคือ 80mm (M.2-2280) และ 60mm (M.2-2260) นั้นเองครับ เช็คว่า mainboard มี M.2 ไหมแล้ว อย่าลืมเช็คขนาดกันด้วยนะครับ เดี๋ยวซื้อมาจะใส่ไม่ได้เอา
ส่วนใครที่ mainboard ไม่รองรับ M.2 ก็สามารถซื้อเป็นตัว adapter หรือ M.2 ในรูปแบบ PCI-e มาใช้ได้เช่นกันครับ
• External SSD
มาถึงตัวสุดท้ายกันแล้วครับ กับ Extermal SSD ที่ไว้สำหรับผู้ใช้ที่ต้องการโอนถ่ายข้อมูลงานที่ใช้ความรวดเร็วสูง เล็ก พกพาง่าย (หายง่ายเช่นกัน) มากับความเร็วในการโอนถ่ายข้อมูลเร็วถึง 500+ MB/s จะเร็วกว่า External Harddisk อยู่ประมาณ 5 เท่าครับ แต่ราคาก็แพงกว่าหลายเท่าตัวเลยครับ ถ้าเทียบความจุต่อ Harddisk ที่ความจุเท่ากัน
ส่วนถ้าใครอยากได้แบบ External แต่ต้องการประหยัดงบหน่อย (น่าจะประหยัดได้เยอะอยู่) ก็สามารถใช้ตัว External Bay สำหรับ Harddisk หรือ SSD ขนาด 2.5 นิ้ว ได้เช่นกันครับ ราคาไม่กี่ร้อยเท่านั้น
สรุป
ใครที่อยากสัมผัสกับความเร็วในการโหลด ทั้งการโหลดฉากเกม โหลดไฟล์งาน ลงโปรแกรม หรืออื่นๆ และมีงบประมาณในการซื้อ แนะนำว่าลองจัดSSDมาสักตัว รับประกันฟินกันแน่นอนครับ ส่วนถ้าใครใช้แบบเดิมๆโอเคแล้ว อยากประหยัดเงินเพื่อนำไปอัพเกรด Hardware ด้านอื่นๆ Harddisk ก็ยังถือว่าตอบโจทย์อยู่ครับ
หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้อ่านทุกท่านครับ ถ้าใครชอบบทความของหมีคอม ช่วยกด แชร์ บทความ หรือ Like Fan Page Bearcoms เพื่อเป็นกำลังใจให้หมีคอมหน่อยนะครับ ส่วนวันนี้ขอลาไปก่อน แล้วพบกันใหม่กับบทความสไตล์หมีคอมในครั้งต่อไปครับ วันนี้สวัสดีครับ ʕᵔᴥᵔʔ