80 Plus หรือ 80+ บน Power Supply Unit (PSU) คืออะไร?
80 Plus คืออะไร วันนี้หมีคอมจะมาเล่าเรื่องสู่กันฟัง เกี่ยวกับ มาตรฐานของ 80 Plus กันครับ ว่ามันมีผลดีต่อระบบไฟในคอมอย่างไร ทำไมจึงต้องเลือก 80 Plus ด้วย และมันจะช่วยทำให้เราประหยัดไฟขึ้นไหมถ้าใช้ 80 Plus ในบทความนี้เราจะมาหาคำตอบกันครับ
Power Supply Unit (PSU)
ก่อนอื่นหมีคอมขออธิบายความหมายโดยย่อของเจ้า PSU ก่อนครับ มันคือตัวแปลงไฟ โดยจะแปลงจากไฟบ้าน AC ไปสู่คอมพิวเตอร์ของเราเป็นระบบไฟ DC ครับ และในขั้นตอนของการเปลี่ยนแปลงไฟนั้น ที่มันจะต้องมีการสูญเสียจึงเป็นที่มาของเรื่องประสิทธิภาพหรือ efficiency ครับ
80 Plus หรือ 80+ คืออะไร
เป็นมาตรฐานของประสิทธิภาพ (efficiency) ในการทำงานของ PSU ครับว่ามีประสิทธิภาพแค่ไหนในการแปลงไฟจากปลั๊กไฟบ้านเรา ไปสู่ระบบคอมพิวเตอร์ของเราได้ดีแค่ไหน และจะต้องสูญเสียกำลังไฟพลังงานไปกับการแปลงไฟขนาดไหน
ยกตัวอย่าง Efficiency ที่ 80%(ไฟที่คอมสามารถนำมาใช้ได้หลังจาก PSU แปลงไฟ) ส่วนอีก 20% นั้นจะสูญเสียไปกับการแปลงไฟครับ
แต่ก่อนที่หมีคอมจะอธิบายในส่วนอื่นๆต่อ ขออธิบายความเข้าใจที่ผิดในบ้างเรื่องที่บางคนอาจเข้าใจผิดกันก่อนครับ
ตัวอย่าง : PSU 700 watt ใช้งานจริงจะได้พลังงานมา 80% และหายไป 20% => 700 x 80% = 560 watt ที่จะสามารถใช้ได้
อันนี้เป็นความเข้าใจที่ผิดกัน มันจะไม่ได้หายไปแบบนั้น PSU 700 Watt สามารถใช้ได้สูงสุด 700 Watt ตามที่ระบุมาครับ และจะเรียกว่า Peak Watt คือค่าที่ผู้ผลิตบอกมาว่าสามารถใช้ได้สูงสุดครับ
คร่าวนี้หมีคอมจะมาอธิบายให้เข้าใจอย่างถูกต้องกันว่า มีหลักการแปลงไฟอย่างไร และ 80+ มีผลอย่างไรครับ
จากรูปด้านบน สมมุติให้ PSU มี efficiency ในการแปลงไฟที่ 80% พลังงานที่เข้ามา(AC) 100 Watt จะสูญเสียไปกับการแปลงไฟ 20 Watt และจะได้นำไปใช้จริง(DC)ที่ 80 Watt ครับ
ยกตัวอย่าง
ให้ PSU เรามี efficiency การแปลงไฟที่ 80% เหมือนเดิม
สมมุติว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ของเรา ต้องการพลังงาน(DC) ในการใช้งานที่ 600 Watt ฉะนั้นถ้าเราต้องการพลังงานที่ใช้ก่อนการแปลงนั้นจะเท่ากับเท่าไหร? (เราจะมาคำนวณกันดูครับ ง่ายๆ)
สูตร: พลังที่คอมต้องการใช้ / PSU efficiency => 600/80% => 600/0.8 = 750 Watt
750 Watt คือพลังงาน (AC) ที่เราต้องการก่อนนำไปแปลงไฟสู่คอมพิวเตอร์ของเราครับ
แล้วอย่างนี้ เราต้องซื้อ PSU 750 Watt ใช่ไหม? ไม่ใช่ครับ 750 เป็นพลังงานขาเข้า(AC)ที่ต้องการก่อนแปลงไฟนั่นเอง ส่วนการเลือกซื้อนั้นดูที่พลังงานความต้องการของอุปกรณ์ในคอมพิวเตอร์ของเราครับ อย่างตัวอย่างด้านบน ระบบต้องการ พลังงานขาออก(DC) 600 watt เราอาจซื้อเผื่อไว้สัก 650-700 Watt ก็เพียงพอใช้ได้ยาวๆแล้วครับ
แต่ก่อนที่ผมจะไปสอนวิธีการคำนวณว่าอุปกรณ์ทั้งหมดในคอมพิวเตอร์ของเราต้องการไฟแค่ไหน ผมจะของพูดถึงประโยชน์ของ 80 Plus กันก่อนครับ
ตารางด้านบนนี้เป็น 80 Plus ของแต่ละระดับครับ จากเว็บไซต์ (https://plugloadsolutions.com/Default.aspx)
ตัวอย่างการคำนวน
ตัวอย่างการอ่านค่าในตาราง เช่น 80+ Gold
20% ช่วงโหลดของ PSU จะสามารถแปลงพลังงานอยู่ได้ที่ 88%
50% ช่วงโหลดของ PSU จะสามารถแปลงพลังงานอยู่ได้ที่ 92%
100% ช่วงโหลดของ PSU จะสามารถแปลงพลังงานอยู่ได้ที่ 88%
หมีคอมจะมาอธิบายตัวอย่างคร่าวๆสัก 3 ตัวอย่าง มี 80+ Bronze, Gold และ Titanium ให้เห็นภาพของประโยชน์ของ 80+ กันครับ ว่าระดับต่างกันมันมีผลต่างเรื่องอะไร มาเริ่มเรียนเลขกันอีกรอบกัน ฮุฮุ
สูตร: พลังงานไฟฟ้า (ยูนิต หรือ KW-hour) = กำลังไฟฟ้า (W) X เวลา (ชั่วโมง) / 1,000
PSU ของคอมทั้ง 3 ตัว Bronze, Gold และ Titanium มีขนาด = 1,000W เท่ากันครับ
สมมุติเราจัดหนักใช้ Full load 100% และใช้คอมเป็นเวลา 12 ชม. ต่อวันครับ
คอมตัวที่1 ใช้ 80 Plus Bronze คอมเราจัดเต็มใช้ Full Load 100% = 1,000W พอดี จะได้ Rate Load = 81% หรือ (0.81)
ซึ่งไฟขาเข้าคอม (AC) จะเท่ากับ 1,000/0.81 = 1,234.57W (มาจากสูตร PSU efficiency ข้างบนยังจำกันได้ไหม)
จำนวนยูนิตที่เราใช้ = 1,234.57W x 12ชม. / 1,000 = 14.81 unit/วัน
และใช้งานคอม 30 วัน 14.81 x 30 = 444.3 unit/เดือน
สมมุติค่าไฟ unitละ 3 บาท 444.3 x 3 = 1,332.9 บาท
คอมตัวที่2 80 Plus Gold ใช้ คอมเราจัดเต็มใช้ Full Load = 1,000W พอดี จะได้ Rate Load = 88% หรือ (0.88)
ซึ่งไฟขาเข้าคอม (AC) จะเท่ากับ 1,000/0.88 = 1,136.36W
จำนวนยูนิตที่เราใช้ = 1,136.36Wx 12ชม. / 1000 = 13.63 unit/วัน
และใช้งานคอม 30 วัน 13.63 x 30 = 408.9 unit/เดือน
สมมุติค่าไฟ unitละ 3 บาท 408.9 x 3 = 1,226.7 บาท
คอมตัวที่3 ใช้ 80 Plus Titanium คอมเราจัดเต็มใช้ Full Load = 1,000W พอดี จะได้ Rate Load = 91% หรือ (0.91)
ซึ่งไฟขาเข้าคอม (AC) จะเท่ากับ 1,000/0.91 = 1,098.9 W
จำนวนยูนิตที่เราใช้ = 1,098.9 W x 12ชม. / 1000 = 13.19 unit/วัน
และใช้งานคอม 30 วัน 13.19 x 30 = 395.7 unit/เดือน
สมมุติค่าไฟ unitละ 3 บาท 395.7 x 3 = 1,187.1 บาท
สรูป PSU ทั้ง 3 ตัว
80+ Model | ค่าไฟ 1 ปี (12 เดือน) | ค่าไฟ 5 ปี |
80+ Bronze | 1,332.9 x 12 = 15,994.8 บาท | 15,994.8 x 5 = 79,974 บาท |
80+ Gold | 1,226.7 x 12 = 14,720.4 บาท | 14,720.4 x 5 = 73,602 บาท |
80+ Titanium | 1,187.1 x 12 = 14,245.2 บาท | 14,245.2 x 5 = 71,226 บาท |
จะเห็นได้ว่าค่าไฟในระยะยาว 80+ อย่าง Titanium จะประหยัดกว่า ตัว Model 80+ Gold และ Bronze อยู่หลายบาทเลย แต่ราคาค่าตัวนั้นก็แพงกว่าเช่นกันครับ ถ้ายิ่งใช้ได้นานเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งคุ้มค่าเงินที่ประหยัดไป ลองชั่งน้ำหนักกันดูครับ
ส่วนใครอยากรู้ว่าเราควรใช้ Power Supply กี่ Watt สามารถศึกษาได้จากบทความ คำนวณวัตต์ที่ใช้ในPSU (POWER SUPPLY) ว่ากินไฟเท่าไหร่? ครับ
Peak Watt
Peak Watt คือค่าที่บอกว่า PSU ตัวๆนั้นจะสามารถ load ได้สูงสุดเท่าไหร่ อย่างที่ได้บอกไว้ในด้านบนของบทความ ยกตัวอย่างเช่น PSU 1,000 Watt บางค่ายนั้น Peak Watt อาจจะได้นานไม่ถึงนาทีกำลัง Watt อาจตกลงมาต่ำกว่า 1,000 Watt ครับ ว่าง่ายๆคือ วิ่งไม่ได้เต็มตลอดเวลา แต่ว่าบางค่ายนั้นอาจบอกว่าสามารถ Continue 1,000 Watt ไปได้อย่างต่อเนื่องไม่จำกัดเวลา เป็นเพราะว่าค่ายนั้นๆ อาจทำเพื่อ Watt ไว้ถึง 1,100-1,200 Watt ครับ จึงทำให้เขากล้าบอกว่า สามารถใช้ได้อย่างต่อเนื่องได้ที่ 1,000 Watt นั่นเองครับ
สรุป
ก็ได้รู้กันเสียทีว่า 80 Plus นั้นมีประโยชน์ในเรื่องของการช่วยประหยัดไฟ เพราะยิ่งรุ่นสูงก็จะยิ่งแปลงไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นครับ แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับค่ายของทางผู้ผลิตของแต่ละแบรนด์ด้วยครับ เพราะ PSU 80 Plus Bronze อาจเหนือกว่าบางค่ายที่เป็น 80 Plus Gold ก็เป็นได้ครับ เพราะขึ้นอยู่กับคุณภาพวัตถุดิบในการใช้ผลิต PSU ของแต่ละค่ายด้วยครับ
คร่าวนี้ผู้อ่านทุกท่านคงได้ความรู้เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับ PSU กันแล้ว คงจะตัดสินใจได้ง่ายมากขึ้นในการเลือกซื้อ PSU สักตัวไว้คู่กายกับคอมของท่านอย่างแน่นอน หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกท่านนะครับ ถ้าใครชอบบทความของหมีคอม ช่วยกด แชร์ บทความ หรือ Like Fan Page Bearcoms เพื่อเป็นกำลังใจให้หมีคอมหน่อยนะครับ แล้วไว้พบกันใหม่ในบทความต่อไปครับ ʕᵔᴥᵔʔ